วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

รู้เท่าทันและป้องกัน โรครูมาตอยด์

รูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ Rheumatoid

รู้เท่าทันและป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
 (Healthplus)

         โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือ โรครูมาตอยด์ เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่รุนแรง และสร้างความทรมานต่อผู้ป่วยเป็นเวลาหลายๆ ปี และถ้าได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือช้าเกินไป สมรรถภาพของข้อจะเสียไป เกิดความพิการ ซึ่งบางครั้งไม่สามารถแก้ไขได้

         สาเหตุการเกิด โรครูมาตอยด์ ยังไม่ทราบแน่นอน เชื่อว่าเริ่มจากมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อและเยื่อบุชนิดต่างๆ ของร่างกาย อันเป็นผลจากการตอบสนองของระบบภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคบางชนิด เชื้อไวรัสหรือสารพิษบางอย่าง และอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์

         โรครูมาตอยด์ จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 5 เท่า อาการอาจเริ่มปรากฏในช่วงอายุเท่าใดก็ได้ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 30-50 ปี ถ้าหากเริ่มเป็น โรครูมาตอยด์ ตั้งแต่เด็ก ก็มักจะมีอาการรุนแรงในเด็กจะมีอาการต่างจากผู้ใหญ่

รู้ได้อย่างไรว่าเป็น โรครูมาตอยด์

          1. มีการอักเสบเรื้อรังของข้อหลายๆ ข้อทั้งสองข้างพร้อมๆ กัน ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 อาทิตย์

          2. ข้ออักเสบ พบบ่อยที่บริเวณ ข้อมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อเข่า ข้อเท้า ซึ่งจะมีอาการปวด บวม และกดเจ็บตามข้อต่างๆ ถ้าเป็นมานานจะมีข้อผิดรูปได้ ซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุข้อ การคั่งของเลือดในบริเวณข้อ ขาดการออกกำลังกายและการทำกายภาพบำบัด กินอาหารไม่เพียงพอหรือการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อ

          3. มีอาการข้อฝืด ข้อแข็ง เคลื่อนไหวลำบาก ในช่วยตื่นนอนตอนเช้า มักต้องใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมงจึงจะเริ่มขยับข้อได้ดีขึ้น ในช่วยบ่ายๆ มักจะขยับข้อได้เป็นปกติ

          4. พบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดเมื่อยหมดทั้งตัว น้ำหนักลด มีไข้ต่ำๆ ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ หลอดเลือดอักเสบปุ่มรูมาตอยด์ใต้ผิวหนัง และภาวะเลือดจาง

          5. ตรวจเลือดพบมีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ แต่ผู้ที่เป็นโรคนี้จะตรวจเลือดพบเพียงร้อยละ 50-70 เท่านั้น ดังนั้นถ้าตรวจไม่พบรูมาตอยด์ ก็ไม่ได้ หมายความว่าไม่เป็นโรครูมาตอยด์แต่ผู้ที่มีปริมาณรูมาตอยด์แฟคเตอร์สูงจะมีอาการรุนแรงกว่า

          6. เจาะน้ำในข้อไปตรวจ

          7. เอกซเรย์ ไม่จำเป็น ยกเว้นในกรณีที่ใช้ประเมินว่าข้อถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด เพราะอาจจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรง มีอาการเป็นๆ หายๆ สามารถใช้ข้อต่างๆ ได้เกือบเท่ากับคนปกติ

         จะมีผู้ป่วย โรครูมาตอยด์ ส่วนน้อยประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่มีอาการรุนแรง ทำให้เกิดความพิการมีข้อบิดเบี้ยวผิดรูปร่างจนใช้งานไม่ได้ และมีผู้ป่วยจำนวนน้อยมาก ที่จะมีอาการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตา หัวใจ หลอดเลือด ปอดม้าม เป็นต้น

         โรครูมาตอยด์ เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ก็เป็นโรคที่สามารถควบคุมอาการได้ แต่ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องมีความอดทนในการรักษา โรครูมาตอยด์ ไม่ควรเปลี่ยนแพทย์หรือเปลี่ยนยาเอง เพราะจะทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างมากต่อตัวผู้ป่วยเอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความพิการขึ้นแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาให้กลับมาเหมือนเดิมได้

         สำหรับข้อที่มีการอักเสบอยู่แล้ว การรักษาจะเป็นการควบคุมโรคไม่ให้เป็นมากขึ้น ดังนั้นข้อก็อาจจะบวม ผิดรูปอยู่เหมือนเดิม ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการรักษาไม่ได้ผล

         โรครูมาตอยด์ มีความรุนแรงแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ดังนั้นแพทย์ก็จะให้การรักษาแตกต่างกันไป โดยเฉพาะในระยะแรกแพทย์อาจต้องปรับเปลี่ยนยาไปมา เพื่อหาว่ายาตัวใดเหมาะสมกับผู้ป่วยคนนั้นมากที่สุด

         ส่วนผลการรักษา โรครูมาตอยด์ จะดีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ ระยะเวลาที่เป็นโรค ความรุนแรงของโรค การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย โรครูมาตอยด์ โดยเฉพาะการทำกายภาพบำบัดของข้อและการใช้ข้ออย่างถูกวิธี

แนวทางการรักษา โรครูมาตอยด์

1. การทำกายภาพบำบัดของข้อ เช่น

         ประคบด้วยความร้อน หรือแช่ในน้ำอุ่น 

         ใส่เฝือกชั่วคราวในช่วงที่อักเสบมากหรือตอนกลางคืน เพื่อลดอาการปวดและป้องกันข้อติดผิดรูป

         ขยับข้อให้เคลื่อนไหวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันข้อติดแข็ง โดยเฉพาะนิ้วมือและข้อมือ

         ออกกำลังให้กล้ามเนื้อแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อนิ้วมือ มือ และแขน ซึ่งอาจจะใช้วิธีบีบฟองน้ำ ลูกบอลยาง ลูกเทนนิสหรือเครื่องออกกำลังที่ใช้มือบีบอื่นๆ รวมถึงการยกน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัมร่วมด้วยก็ได้

         ใช้ข้ออย่างถูกวิธี พยายามกระจายแรงไปหลายๆ ข้อ เช่น ใช้มือสองข้างช่วยกันจับสิ่งของแทนการใช้มือข้างเดียว ใช้ข้อใหญ่ออกแรงแทนข้อเล็ก เช่น ใช้แขนเปิดประตูแทนใช้ข้อมือ หรือ ใช้อุ้งมือเปิดฝาขวดแทนใช้นิ้วมือ

         ปรับสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้เหมาะสม เช่น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบคันโยก ไม่ควรใช้แบบบิด-หมุน ประตูควรเป็นแบบเลื่อนเปิด-ปิด ไม่ควรใช้ลูกบิด

2. ยากลุ่มระงับการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์

         ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง จะช่วยลดอาการปวดและบวมตามข้อได้ค่อนข้างดี และเมื่อเลือกใช้ยาตัวใดก็ควรรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 อาทิตย์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น

         ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาทุกตัวในกลุ่มนี้ คือ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ แสบท้อง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร อาจจะมีบวมบริเวณหน้าแขน ขา ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังและ ต้องระวังการใช้ยาในผู้สูงอายุ

         ยากลุ่มนี้จะมียาใหม่ที่มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับการเกิดแผลในทางเดินอาหารน้อย แต่จะมีราคาค่อนข้างแพง จึงควรเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในทางเดินอาหาร เช่น ผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่เคยมีแผลในทางเดินอาหาร

3. ยากลุ่มสเตียรอยด์ 

         ยากลุ่มนี้มีทั้งชนิดกินและฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าข้อ จะใช้เมื่อการอักเสบรุนแรง แต่ไม่ควรใช้ในขนาดสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะผลข้างเคียงมาก เช่นกระดูกพรุน ไตวายเฉียบพลัน ติดเชื้อง่าย เมื่อหยุดยาก็จะกลับมีอาการขึ้นอีก ในช่วงที่มีการอักเสบมาก อาจใช้ในขนาดสูง เมื่ออาการดีขึ้นก็ควรลดยาลง

4. ยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่ออกฤทธิ์ช้า 

         เป็นยาที่ค่อนข้างอันตราย มีผลข้างเคียงมาก แพทย์จึงจะใช้ในกรณีที่ใช้ยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผล หรือในผู้ที่มีอาการอักเสบรุนแรง มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในเลือดสูง ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า กว่าจะเห็นผลต้องให้ยาติดต่อกันอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไป

         ยาที่ใช้บ่อย และค่อนข้างปลอดภัยคือ ยาคลอโรควิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคมาลาเรีย และสามารถลดการอักเสบในโรครูมาตอยด์ได้ด้วย โดยมักจะใช้ควบคู่ไปกับยาในข้อ 2 มีผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ตาพร่า ผื่นคัน ผิวแห้ง ผิวคล้ำ ซึ่งจะลดอาการทางผิวหนังได้โดยหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง แต่ถ้าเกิดผลข้างเคียงมาก เช่น ตาพร่า ก็ต้องหยุดใช้ยา

         ยาตัวอื่นในกลุ่มนี้ เช่น ยา MTX ยาเกลือทอง ยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย และยังมียาใหม่ๆ ที่เริ่มนำมาใช้อีกหลายชนิด ซึ่งเป็นยาที่อันตราย มีผลข้างเคียงสูง ถ้าจะใช้ต้องอยู่ภายได้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด

5. การผ่าตัด เช่น 

         ผ่าตัดเลาะเยื่อบุข้อที่มีการอักเสบออก ผ่าตัดเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น ผ่าตัดเชื่อมข้อติดกัน ผ่าตัดกระดูกปรับแนวข้อให้ตรงขึ้น ผ่าตัดใส่ข้อเทียม การผ่าตัดถือว่าเป็นการรักษาปลายเหตุเพื่อบรรเทาอาการเท่านั้น


ขอขอบคุณข้อมูลจาก




สุดท้ายผมขอฝากเรื่องข้อต่อและกระดูกไว้ด้วยครับ
เพราะปัจจุบันนี้โรคเกี่ยวกับข้อต่อและกระดูก
เป็นภัยเงียบที่น่ากลัวผมไม่อยากเห็นเพื่อนๆ
หรือคนที่เพื่อนๆรักป่วยเป็นโรคเหล่านี้
เพราะมันอาจจะรุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้เลยนะครับ
ยังไงผมก็ฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย
ด้วยความห่วงใยจากผม
แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้านะครับ
สวัสดีครับ
สนใจแนวทางป้องกัน ดูแลสุขภาพของข้อเข่าและข้อต่อต่างๆในร่างกาย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้อคิดเห็นที่แตกต่างต่อกระแสยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (กลูโคซามีน)

โรคข้อเสื่อม


ข้อคิดเห็นที่แตกต่างต่อกระแสยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (กลูโคซามีน)

รองศาสตราจารย์ นพ.กิตติ  โตเต็มโชคชัยการ 
หน่วยโรคภูมิแพ้ อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ  
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

          เชื่อว่าวันนี้ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม มีข้อสงสัยมากขึ้นกว่าวันก่อน ๆ ไม่เพียงสงสัยในเรื่องโรค การรักษา และข้อสงสัยล่าสุด กับประสิทธิภาพของตัวยากลูโคซามีนที่รัฐตั้งข้อสงสัย…

          โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ในวัยนี้กระดูกจะเริ่มเสื่อมลง ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานข้อมาก อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา ทำให้กระดูกอ่อนถูกทำลายการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้าใช้งานข้อหนักเกินไปก็ต้องลดการใช้งานข้อ ถ้าเกิดจากน้ำหนักตัว ก็ต้องลดน้ำหนัก แต่ถ้าข้อยังเสื่อมลงเรื่อย ๆ จนเกิดอาการปวดข้อ อาจจะต้องใช้การรักษาด้วยยา

Q  การรักษาด้วยยาจะใช้เมื่อไหร่ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร 

          การรักษาด้วยยามีทั้งแบบรักษาตามอาการ กับรักษาระยะยาว คนไข้ที่มีอาการปวดเข่า บรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย แต่เป็นการรักษาแบบครั้งคราว และอีกวิธีคือการรักษาแบบระยะยาว เพื่อชะลออาการข้อเสื่อม เป็นยาที่รับประทานอย่างต่อเนื่อง เช่น กลูโคซามีน ซัลเฟต คอนโดรอิติน ซัลเฟต ไดอะเซอเรน และยาฉีดเข้าข้อยากลุ่มนี้ มีการพิสูจน์มาแล้วว่าช่วยลดอาการปวดในระยะยาว

Q  มีกระแสอ้างว่า กลูโคซามีนให้ผลการรักษาไม่ชัดเจนมีความเห็นอย่างไร

          ทราบข่าวว่า มีรายงานตั้งข้อสงสัยในตัวยากลูโคซามีนว่าให้ผลการรักษาไม่ชัดเจน จนเป็นข้อมูลที่รัฐนำมาอ้างในการตัดสิทธิ์รายชื่อยารักษาโรคข้อเสื่อม ออกจากบัญชีเบิกจ่าย ซึ่งประเด็นนี้ต้องย้อนกลับไปดูงานวิจัยชิ้นนี้ ว่าใช้ยาอะไร และวิจัยในผู้ป่วยกลุ่มไหน การศึกษา  GAIT Study ที่ทำในสหรัฐอเมริกา ซึ่งรัฐนำมาใช้เป็นข้อมูล เป็นการศึกษากลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ ซึ่งอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ไม่ใช่กลูโคซามีน ซัลเฟต ซึ่งตัวยากลูโคซามีน ซัลเฟตนี้มีรายงานสนับสนุนจากหลายแหล่งพบว่า ช่วยชะลออาการปวดได้ในระยะยาว

Q  ประสบการณ์ในการใช้ กลูโคซามีนกับคนไข้ เป็นอย่างไร

          ผู้ป่วยจำนวนมากมีผลการรักษาที่ดี จากที่เคยมีอาการปวดข้อ ข้อติด ข้อฝืด ข้อขัด ข้อเสียว เมื่อรับประทานยากลูโคซามีน ซัลเฟต อย่างต่อเนื่องจะลดอาการปวด และสามารถใช้งานข้อได้ดีขึ้น       
 
Q  ข้อแนะนำในการเลือกยาชะลอโรคข้อเสื่อม

          ต้องรับประทานยาติดต่อกันนานพอสมควรจึงจะเห็นประสิทธิภาพ ยาที่ให้ผลการรักษาที่ดี  ต้องมีการศึกษา การวิจัยในระยะยาวจนมั่นใจว่าได้ผลดี หากใช้ยาที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีผลการวิจัยสนับสนุน หรือยาเลียนแบบ จะเป็นการเสี่ยงและทำให้เสียเวลา มารู้ตัวอีกทีก็ช้าไปเสียแล้ว



ศาสตราจารย์ นพ.วีระชัย โควสุวรรณ

ศาสตราจารย์ นพ.วีระชัย โควสุวรรณ 


ศาสตราจารย์ นพ.วีระชัย โควสุวรรณ 
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและระบาดวิทยา 
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์   
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

          เมื่อรัฐตัดสิทธิ์เบิกจ่ายยารักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ไม่เพียงแค่ทำให้คนสูงวัยในวงการราชการต่างวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยังกลายเป็นหัวข้อถกเถียงในวงการแพทย์ ถึงความถูกต้องของข้อมูลที่ใช้อ้างอิง ?

Q  ได้ข่าวว่าในวงการออโธปิดิกส์ กำลังมีประเด็นฮอตให้วิจารณ์

          เป็นความเห็นที่แตกต่างมากกว่า จากการอ่านบทความ BMJ ที่เป็นวารสารทางการแพทย์  ในสหราชอาณาจักร ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาแบบ Indirect  Meta-analysis หรือ network Meta-analysis ซึ่งเป็นการสังเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยของยา กลูโคซามีน และ ยาดรอยตินเทียบกับยาหลอก แล้วสรุปว่าให้ผลทางการรักษาไม่ชัดเจน แพทย์ในวงการมีความเห็นว่า ผลการศึกษานี้เป็นการเปรียบเทียบทางอ้อม ซึ่งการวิเคราะห์ชนิดนี้มีการตั้งความเชื่อของผู้วิจัยประกอบเข้ากับการวิเคราะห์มากกว่าการใช้ข้อมูลจากงานวิจัยโดยตรง ในความเป็นจริงแล้วการสังเคราะห์งานวิจัยทางการแพทย์มี 2 วิธีการ คือ Direct กับ Indirect  Meta-analysis ซึ่งวิธีวิจัยแบบ Direct จะมีความน่าเชื่อถือ ไม่ซับซ้อนและตรงไปตรงมามากกว่าวิธี Indirect 

Q  แล้วมีงานวิจัย หรือสถาบันอื่นที่น่าเชื่ออีกหรือไม่

          หน่วยงานวิจัยทางการแพทย์ด้านกระดูกและข้อ ซึ่งเป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือที่สุดมี 4 หน่วยงาน คือ OARSI, EULAR, Cochrane และAAOSโดยทุกหน่วยทำการวิจัยเรื่องข้อเข่าเสื่อม แบบ Direct Meta-analysis มีผลการศึกษาออกมาว่ากลูโคซามีน ซัลเฟต ให้ประสิทธิภาพดีกว่ายาหลอก ซึ่งขัดแย้งกับผลสรุปของ BMJ ดังนั้นจึงไม่ควรนำงานวิจัยของ BMJ มาใช้ในการอ้างอิงเพียงงานวิจัยเดียว

Q  การใช้ข้อมูลนี้มาอ้างอิงส่งผลอย่างไร

          ตอนนี้รัฐใช้เป็นข้อมูลในการตัดสิทธิ์เบิกจ่ายยารักษาข้อเข่าเสื่อม มีผลให้ข้าราชการไม่สามารถเบิกจ่ายยาบรรเทาอาการข้อเสื่อมได้ตั้งแต่ต้นปี ซึ่งผลการศึกษาของ BMJ ทำเฉพาะกับตัวยากลูโคซามีน บางตำรับ แต่รัฐนำมาอ้างว่ายาในกลุ่ม SYSADOA ทั้งหมดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา เหมือนเป็นการกล่าวหา อย. ของประเทศไทยที่ยอมขึ้นทะเบียนยากลุ่มนี้ และยังกล่าวหาว่าแพทย์ใช้ยาไม่มีประสิทธิภาพมาตลอด ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถร้องเรียนแพทย์ผู้ทำการรักษาได้ด้วย จึงมีการตั้งข้อสงสัยกันว่า หรือรัฐไม่มีเงิน ต้องการแค่ประหยัดงบประมาณเท่านั้น จึงพยายามหาข้ออ้างทางวิชาการเพื่อริดรอนสิทธิการรักษาของข้าราชการ

Q  เคยมีประสบการณ์ตรงในการรักษาด้วยยากลูโคซามีนหรือไม่ 

          จากประสบการณ์รักษาคนไข้มาหลายราย ตัวยากลูโคซามีน ซัลเฟต ใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมได้ผลดี คนไข้ต้องได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ายาตัวนี้ไม่ดีจริงคงไม่ได้รับการ อนุมัติจาก อย. ที่เป็นหน่วยงานของรัฐเอง ทำเช่นนี้ก็เหมือนกับรัฐตบหน้าตัวเอง นอกจากนี้การรักษาอย่างต่อเนื่องจนอาการเข่าเสื่อมดีขึ้น ทำให้คนไข้ไม่ต้องไปเสี่ยงกับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ที่มีต้นทุนสูง เสี่ยงกับการติดเชื้อได้อีกด้วย ซึ่งไม่เข้าใจว่า กลุ่มแพทย์ที่ไม่เคยดูแลผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมกล้าออกความเห็น ให้ใช้แต่ยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพในการลดปวดด้อยกว่ายากลุ่มนี้ (จากการสังเคราะห์ของOARSI, EULAR, Cochrane และAAOS) และยังแนะนำให้ผ่าตัดเข่า ทำไมไม่ให้แพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโดยตรงเป็นผู้ตัดสิน ราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ได้ออกแนวทางการรักษาข้อเสื่อมให้กับแพทย์ทั่วไปแล้ว ซึ่งถ้าแพทย์ใช้แนวทางนี้จะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยเหมาะสมและคุ้มค่ามากขึ้น ซึ่งคิดว่าแพทย์ด้านกระดูกและข้อมีความรับผิดชอบสูงพอที่จะพิจารณาปัญหาขาดงบประมาณของประเทศ ซึ่งไม่ด้อยกว่ากลุ่มแพทย์ที่ออกความเห็นดังกล่าว



ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.เสก อักษรานุเคราะห์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.เสก อักษรานุเคราะห์ 
ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สภากาชาดไทย

          จากการที่รัฐตัดกลุ่มยารักษาโรคไขข้อ ออกจากรายชื่อบัญชียาที่เบิกจ่ายได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากมาย โดยเฉพาะแพทย์ด้านกระดูก และหนึ่งในนั้นคือแพทย์ผู้ริเริ่มรักษาคนไข้ด้วยตัวยานี้ มีประสบการณ์รักษามานานนับสิบ ๆ ปี 

          โรคข้อมีอยู่หลายชนิด ที่พบมากที่สุดคือข้อเสื่อม ตอนที่คนเราอายุยังน้อยกระดูกอ่อนจะหนา เมื่ออายุมากขึ้นร่างการซ่อมแซมกระดูกที่สึกหรอได้น้อยลง ก็จะทำให้กระดูกอ่อนบางลงเรื่อย ๆ กระดูกเสียดสีกันได้ง่ายขึ้น  จนเกิดอาการ ที่เราเรียกว่าโรคข้อเสื่อม

Q แนวทางรักษาโรคข้อของคุณหมอเป็นอย่างไร

          ขึ้นอยู่กับระดับความเสื่อมของคนไข้ว่าน้อย กลาง หรือมาก เราพบกับคนไข้ตอนที่ปัญหาอยู่ในระดับไหน การป้องกันดีกว่าการรักษา  แนวทางคือการพยายามคงสภาพที่ดีของข้อไว้ ไม่ให้ข้อเสื่อมเร็ว ยืดเวลาการใช้งานข้อออกไป อีกอย่างคือการปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง นั่ง-นอน-ยืน และออกกำลังกายให้ทำให้ถูกต้อง รวมทั้งการใช้ยาควบคู่กันไปด้วยเพื่อชะลอการเสื่อมของข้อ ช่วยไม่ให้เกิดอาการเข่าเจ็บ หรือเข่าดังในที่สุด

Q กลุ่มยาไหนที่ใช้รักษาโรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะ

          ยาที่ใช้มากในการรักษาโรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะ คือกลูโคซามีน ซัลเฟต ซึ่งเป็นยาที่มีประวัติการใช้มายาวนาน ในอดีตใช้วิธีฉีดเข้าไปโดยตรงที่ข้อ และมีการพัฒนาต่อมาเป็นรูปแบบรับประทาน ซึ่งกลูโคซามีน รูปแบบรับประทานที่จะให้ผลการรักษาต้องเป็นกลูโคซามีน ซัลเฟต และจะให้ประสิทธิภาพดีที่สุด ต้องรับประทาน 1500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยกลูโคซามีน ซัลเฟต ถ้ารับประทานต่อเนื่องจะไปกระตุ้นการสร้างกระดูกอ่อนให้หนาตัวขึ้น

Q คุณหมอมั่นใจในประสิทธิภาพของยากลูโคซามีนแค่ไหน

          มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมเป็นคนแรก ๆ ที่เริ่มใช้ยาตัวนี้รักษาคนไข้ที่เป็นข้อเสื่อม เมื่อได้ผลดีก็ใช้รักษาคนไข้มาโดยตลอดหลายสิบปี ถึงตอนนี้ก็ใช้รักษาคนไข้มาเป็นพัน ๆ คน และตัวผมเองก็รับประทานกลูโคซามีน ซัลเฟต มาแล้วกว่า 12 ปี ข้อเข่ายังใช้การได้ดี แม้แต่แพทย์ด้านกระดูกเองยังรับประทานตัวยานี้เลย ก็เลยไม่เข้าใจว่า ทำไมรัฐบาลถึงอ้างว่าตัวยาไม่ดี และนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อไม่ให้ข้าราชการใช้สิทธิ์เบิกได้อีกต่อไป 


สมปอง จูฑะวงศ์
ข้าราชการบำนาญ อาจารย์ 2 ระดับ 7
กระทรวงศึกษาธิการ

          เมื่อรัฐประกาศตัดสิทธิ์การเบิกจ่ายยารักษาโรคข้อเข่า รัฐได้ไปเต็ม ๆ คือ การประหยัดงบรายจ่าย แต่ก็เสียไปเต็ม ๆ เหมือนกัน  ในแง่ความรู้สึก ขวัญและกำลังใจของข้าราชการสูงวัยที่ได้รับผลกระทบไปทั่วประเทศ

ประสบการณ์ในการรักษาโรคข้อ

          มีปัญหาเรื่องของเอ็นข้อไหล่อักเสบ และข้อเข่าอักเสบ ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แรก ๆ หมอก็ให้ยาแก้ปวด ควบคู่กับการกายภาพ อาการก็ดีขึ้นมาบ้างแต่ไม่หายขาด ต่อมาหมอให้แผนการรักษาแบบระยะยาวโดยให้กินยา กลูโคซามีน หลังจากกินยาต่อเนื่องไปไม่นานอาการก็ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็กำลังทำการรักษาอยู่ และเชื่อว่าจะดีขึ้นแน่นอน มั่นใจในตัวยานี้มาก ๆ

การที่รัฐตัดสิทธิ์การเบิกในตัวกลุ่มนี้ มีผลอย่างไร

          รัฐเค้าไม่ให้เบิกตั้งแต่มกราคมนี้แล้ว ตอนนี้ข้าราชการเดือดร้อนกันมาก เพราะเงินเดือนข้าราชการไม่มากข้าราชการบำนาญก็ยิ่งแย่ เพราะได้เงินเดือนตายตัวไม่มีการปรับขึ้น ยารักษาโรคข้อมีราคาค่อนข้างสูง ตอนนี้รัฐไม่ยอมให้เบิก เราก็ต้องจ่ายเองไปเต็ม ๆ อยากให้รัฐเห็นใจข้าราชการสูงวัยที่ต้องมาเสียเงินค่ายาเอง ไม่น่ามาตัดสิทธิ์ตัวยานี้เลย 

กับประเด็นที่รัฐสงสัยว่า ยากลุ่มนี้อาจมีประสิทธิภาพไม่ดีจริง

          ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะมีประสบการณ์ด้วยตัวเองมาหลาย ๆ ปี เห็นผลจากการรักษามาแล้วถ้าบอกว่าประสิทธิภาพของยาไม่ดี ก็ไม่น่าใช่ อีกอย่างคือตัวเองเชื่อในประสบการณ์ความสามารถของหมอ ถ้าหมอรักษามาหลายปีจนมั่นใจ และใช้กับคนไข้จนหายดี ก็น่าจะเป็นตัวยาที่มีประสิทธิภาพดี



วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

5 เทคนิควิ่งอย่างไรไม่ให้ปวดเข่า

การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายและประหยัด แต่บางครั้งเทคนิคการวิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงรองเท้าหรือสภาพร่างกายที่ไม่อำนวยก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้เช่นกัน

   เกร็ดสุขภาพมี วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดเข่าขณะวิ่งมาฝากกันค่ะ

  1. ควรอบอุ่นร่างกายและยืดกล้ามเนื้อให้เพียงพอ โดยเริ่มจากการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะๆ ก่อนที่จะวิ่งเต็มที่ รวมทั้งควรยืดกล้ามเนื้อรอบเข่าและข้อเท้าทุกครั้ง เพื่อให้มีการปรับตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการออกกำลังกาย เช่น การเหยียดเข่าตรงและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาค้างไว้ วินาทีต่อครั้ง ทำประมาณ 10 -20 ครั้งต่อวัน เป็นต้น
  2. เลือกซื้อรองเท้าวิ่งให้เหมาะสม รองเท้าที่ใช้ควรมีพื้นกันแรงกระแทกที่เพียงพอและมีความกระชับพอดีกับเท้า ซึ่งตามร้านค้าที่ขายมักจะมีการแยกประเภทรองเท้ากีฬาชนิดต่างๆ ไว้แล้ว
  3. ควรตรวจดูลักษณะเท้าว่าผิดปกติหรือไม่ ส่วนใหญ่ที่พบคือ ภาวะเท้าแบน ถ้าคุณมีเท้าแบนหรือไม่มีอุ้งเท้าสูงเพียงพอ เวลาวิ่งนานๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดเข่าและข้อเท้าได้
  4. ไม่ควรวิ่งก้าวเท้ายาวเกินไปหรือยกเข่าสูงเกินไป เพราะทำให้ข้อเข่าต้องงอมากเกินความจำเป็น อาจทำให้เกิดปัญหาปวดเข่าได้ง่ายขึ้น
  5. ควรวิ่งโดยลงน้ำหนักที่ส้นเท้า การวิ่งโดยลงน้ำหนักที่ปลายเท้านานๆ จะทำให้เกิดแรงกระชากพังผืดฝ่าเท้า ปวดกล้ามเนื้อน่อง และยังเกิดแนวแรงที่ผิดปกติที่ผ่านต่อข้อเข่า ทำให้ต้องงอเข่ามากขึ้นขณะวิ่ง และอาจทำให้เกิดการปวดเข่าด้านหน้าได้ 


แต่หากคุณมีภาวะข้อเสื่อมอย่างชัดเจน ขอแนะนำให้ใช้การออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ว่ายน้ำ รำกระบอง โยคะ หรือเดินเร็ว แทนการวิ่งนะครับ แต่ไม่ว่าจะเป็นอาการออกกำลังกายชนิดใดๆ ก็ล้วนแต่สร้างสุขภาพกายใจที่ดีให้คุณได้ ^_^
ขอบคุณข้อมูล: ชีวจิต

การบริหารเพื่อแก้ป้องกันโรคข้อเข่านักวิ่ง


โรคข้อเข่านักวิ่งมีสาเหตุจากกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ( Quadriceps )  ไม่แข็งแรง การวิ่งที่ต้องงอเข่ามากๆเช่น  วิ่งขึ้นหรือลงจากที่สูง  หรือที่ลาดเอียง  เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บดังกล่าว  ถ้ารักษาหายแล้วต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกด้วยการป้องกัน  ซึ่งประกอบด้วย
 
        1.  เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม  ปรับปรุงเทคนิคการวิ่งให้ถูกต้อง  เลือกสถานที่วิ่งให้เหมาะสม  ถ้าวิ่งเพื่อสุขภาพก็ควรหลีกเลี่ยงการฝึกซ้อมที่ต้องวิ่งขึ้นหรือลงจากที่สูง  หรือที่ลาดเอียง
 
        2.  บริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้า ( Quadriceps ) ให้แข็งแรง  ใช้ท่ายืน  นั่งเก้าอี้หรือนอน  ก็ได้
 
        ท่ายืน  ให้ยืนเอาหลังพิงผนัง  ยกขาขึ้น  เข่าเหยียดตึง  ให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้  ยกค้างไว้ วินาที  แล้วงอเข่าเป็นการพักสัก วินาที  ยกซ้ำอีกจนครบ ครั้งแล้วสลับยกขาอีกข้างหนึ่ง  ค่อยๆเพิ่มจนยกได้นาน 10 วินาที
 
        ท่านั่ง  นั่งเก้าอี้พิงพนัก  เกร็งกล้ามเนื้อหน้าขาให้เข่าเหยียดตรง  นับ ถึง 10  แล้วคลายกล้ามเนื้อปล่อยเข่าลง  ทำ 10 ครั้ง  แล้วสลับข้าง  ทำซ้ำ 2-3 เที่ยวต่อวัน
 
        ท่านอน   นอนหงายแล้วยกขาขึ้นจากพื้น  สูงประมาณ ฟุต  เข่าเหยียดตรง  นับถึง10  แล้ววางลง  ทำ 10 ครั้ง  แล้วสลับข้าง  ทำซ้ำ 2-3 เที่ยวต่อวัน
 
        ถ้าแข็งแรงขึ้นก็ค่อยๆเพิ่มจำนวนครั้งและจำนวนเที่ยวให้มากขึ้น  อาจเพิ่มได้ถึง 90-100ครั้งต่อวัน  หรืออาจเพิ่มความหนักด้วยการยกน้ำหนัก  ( ถ่วงด้วยถุงทราย )    อาจเริ่มที่น้ำหนักน้อยๆเช่น กิโลกรัม  แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย  ( พวกนักวิ่งจะยกถึง 1/3 ของน้ำหนักตัว )
 
        ถ้าให้ดีก็บริหารกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง ( Hamstrings ) คู่กันไป  ด้วยการนอนคว่ำ ยกขาขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เข่าเหยียดตรง  ทำเหมือนการบริหารด้านหน้า
 
        นอกจากนี้ยังอยากแนะนำการบริหารที่จะช่วยฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของข้อเข่าอีก ท่า  คือ Foot Turns
 
        Foot turns  นั่งเก้าอี้หรือนอนหงายก็ได้  เหยียดขาออก  เข่าตรง  กระดกข้อเท้าขึ้น เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา  หมุนเท้าออกด้านข้างให้ได้มากที่สุดที่จะทำได้  ค้างไว้ 10 วินาที  แล้วหมุนเท้าเข้าด้านในให้มากที่สุดที่จะทำได้ค้างไว้ 10 วินาทีเช่นกัน  พัก  แล้วสลับข้าง  ทำ 3เที่ยว
    
            นักวิ่งใหม่ๆที่มีอาการดังกล่าว  ให้พักจนอาการดีขึ้น  หลังจากนั้นก็ศึกษาเทคนิคการวิ่งที่ถูกต้อง  ไม่หักโหมจนเกินไป  เลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสมกับการวิ่ง  แนะนำประเภทที่รองรับแรงกระแทกได้ดี  เลือกวิ่งในสถานที่ที่ไม่มีทางลาดชัน  ทางวิ่งเรียบ  ไม่มีการเลี้ยวที่มีมุมแคบ
         ฝึกกล้ามเนื้อตามวิธีดังกล่าวข้างต้น  ท่านไม่น่าจะมีอาการบาดเจ็บดังกล่าวเกิดขึ้นอีก ก็ไม่จำเป็นต้องเลิกวิ่งแล้วหันไปออกกำลังกายด้วยวิธีอื่น  แต่ถ้าทำแล้วอาการไม่ดีขึ้น  มีอาการบาดเจ็บซ้ำอีก  ก็แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์นะครับ 
นพ. ธีรวัฒน์ กุลทนันท์  หนังสือบาดเจ็บจากการวิ่ง       
Knee Pain โดย Josh Clark จากhttp://www.coolrunning.com/engine/2/2_5/194.shtml
อย่าลืมเอาไปทำกันดูนะครับเพื่อนๆที่ชอบวิ่ง
หมั่นดูแลตัวเองและคนที่เพื่อนๆรักด้วยนะครับ
การปล่อยปะละเลยอาจจะทำให้เข่าพังจนเดินไม่ได้เลยนะครับ
หวังว่าเพื่อนๆทุกคนยังอยากเดินได้อยู่นะครับ