ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม หรือที่เรียกกันว่าการเปลี่ยนสะบ้าเทียมนั้นเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่ผิวข้อสึกหรอไปมากและไม่สามารถประสบความสำเร็จโดยวิธีการรักษาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาหรือการทำกายภาพบำบัด โดยแพทย์จะทำผ่าตัดโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพแล้วออก หลังจากนั้นจะนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำมาจากโลหะและโพลิเอทธีลีนที่ได้รับการออกแบบมา เพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยเฉพาะมาใส่แทนที่โดยยึดด้วยซีเมนต์พิเศษแล้วจัดแกนขาที่ผิดรูปให้กลับมาตรงดังเดิม ทำให้ภายหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและลงน้ำหนักได้เป็นธรรมชาติและปราศจากความเจ็บปวด
ข้อเข่าเทียม มีส่วนประกอบด้วยกัน 4 ส่วนได้แก่
1. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง (femoral component) เป็นโลหะผิวเรียบที่ยึดกับปลายกระดูกต้นขาส่วนล่าง ทำหน้าที่เป็นเหมือนกระดูกอ่อนผิวข้อ
2. ส่วนที่ติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน (tibial component) เป็นโลหะที่ยึดติดกับปลายกระดูกหน้าแข้งส่วนบน ทำหน้าที่เป็นแป้นรองรับหมอนรองกระดูกเทียมอีกทีหนึ่ง
3. หมอนรองกระดูกเทียม (polyethylene) อยู่ระหว่างโลหะสองชิ้นข้างต้น ทำหน้าที่รับและกระจายน้ำหนัก
4. ผิวลูกสะบ้าเทียม (patellar component)
|
|
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมมีหลายชนิดและหลายวิธี จึงจำเป็นจะต้องเลือกให้มีความเหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละราย ข้อดีและข้อเสียก็แตกต่างกันไป
| เมื่อไรที่ควรผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม |
การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมจัดเป็นการผ่าตัดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยสามารถทำให้คนไข้หายจากอาการเจ็บปวดทรมาน สามารถเดินได้ตามปกติหรือใกล้เคียงปกติและเดินได้ไกลมากขึ้น สามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันได้หรือท่องเที่ยวได้ รวมถึงรูปร่างของข้อเข่าดูสวยงามขึ้น ข้อเข่าเทียมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 12-15 ปีแล้วจะเริ่มสึกหรอ แพทย์จึงมักพิจารณาผ่าตัดเฉพาะคนไข้ที่มีอายุค่อนข้างมากแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในคนไข้ที่อายุน้อยซึ่งยังมีการเคลื่อนไหวและใช้ข้อมาก จะทำให้ข้อเข่าเทียมมีการสึกหรอเร็วและมีอายุการใช้งานที่สั้นลง อีกทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนซ้ำอีกครั้งอาจจะไม่ให้ผลการรักษาที่ดีเหมือนครั้งแรก ดังนั้นแพทย์จะเลือกทำการผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในคนไข้ที่รักษาโดยวิธีการรับประทานยาและการรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยแพทย์และคนไข้จะประเมินอาการร่วมกันเพื่อตัดสินใจในการผ่าตัด |
โดยสรุป…
ผู้ป่วยที่เหมาะสมจะผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม ได้แก่
- ผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อมในระยะสุดท้าย
- ผู้ป่วยที่ต้องทานยาแก้ปวดต่อเนื่องกันทุกวัน
- อาการปวดมากจนไปรบกวนการประกอบกิจวัตรประจำวัน
- เมื่อรักษาโดยวิธีอื่นทั้งหมดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ
ข้อเข่าเทียมมีกี่ชนิด
ผู้ป่วยแต่ละคนมีความรุนแรงของภาวะข้อเข่าเสื่อมมากน้อยแตกต่างกันไป ข้อเข่าเทียมเองก็มีการออกแบบมาหลายชนิดแตกต่างกันเพื่อใช้ทดแทนผิวข้อที่มีการสึกหรอในแบบที่ไม่เหมือนกัน ข้อเข่าเทียมแบ่งกว้างๆได้เป็นสองประเภทใหญ่ ได้แก่
1.ข้อเข่าเทียมแบบเปลี่ยนผิวข้อเฉพาะบางส่วน ซึ่งยังแบ่งได้อีก 2 แบบ
1.1 ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว (Unicompartmental Knee Arthroplasty) ใช้ทดแทนผิวข้อที่สึกเพียงด้านใดด้านหนึ่งของผิวข้อ ที่พบมากคือผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าทางด้านในเพียงด้านเดียวและแกนขาไม่โก่งมาก แพทย์จะนำเอาผิวกระดูกที่เสื่อมสภาพเพียงบางส่วนนั้นออกไป แล้วใช้ข้อเข่าเทียมชนิดซีกเดียวเปลี่ยนให้
1.2 ข้อเข่าเทียมแบบสองซีก (Bicompartmental Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้เปลี่ยนผิวข้อทางด้านในและลูกสะบ้า เหมาะจะใช้ในคนไข้ที่มีผิวข้อเสื่อมทางด้านในและผิวลูกสะบ้าสึกหรอ มีแกนขาโก่งไม่มาก และผิวข้อทางด้านนอกปกติดี
|
|
2. ข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ (Total Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้ในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อมมากๆ ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าทั่วทั้งเข่าและแกนขาผิดรูปมาก แพทย์จะนำผิวข้อที่เสื่อมแล้วออกทั้งหมด แล้วทดแทนด้วยข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ
|
|
สุดท้ายแล้วชีวิตจะมีความสุขจากอะไรครับถ้าไม่ใช่สุขภาพของเราเอง
อย่าให้ต้องถึงขั้นต้องผ่าตัดกันเลยครับมันไม่มีทางเหมือนเดิมได้หรอก
หมั่นดูแลข้อเข่าของคุณบ้างก่อนที่มันจะใช้งานไม่ได้
ด้วยความรักและห่วงใยครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น