วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

โรคข้อเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาที่นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้น ทั้งนี้เพราะจำนวนของคนวัยทองนับวันจะมีมากขึ้น และจะมากขึ้นอีกในอนาคต ยิ่งคนเรามีอายุยืนมากขึ้นเท่าไร จำนวนของคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น มีการศึกษาที่แสดงว่าคนที่อายุ 60 ปี ขึ้นไปมีคนที่เป็นโรคข้อเสื่อมถึงร้อยละ 50 และสำหรับคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปมีถึงร้อยละ 70 ที่เป็นโรคข้อเสื่อม ถ้าคนเรามีอายุถึง 100 ปี สงสัยว่าทั้งร้อยละ 100 จะเป็นโรคข้อเสื่อม ดังนั้น พวกเราทุกคนเมื่อมีอายุมากขึ้นจนเข้าวัยทอง คงหนีไม่พ้นโรคข้อเข่าเสื่อมแน่ เพียงแต่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าแค่ไหนเท่านั้น
ทำไมข้อของคนเราต้องเสื่อมด้วย
ถ้าจะตอบอย่างตรงๆ ก็คงจะต้องบอกว่าเป็นเรื่องของสังสารวัฏ อะไรมีเจริญขึ้นก็มีเสื่อมลง เมื่อถึงเวลา สังขารร่างกายของคนเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อถึงเวลาก็มีเสื่อมลง ในข้อของคนเราส่วนประกอบที่เกิดการเสื่อมมากที่สุด เห็นจะเป็น กระดูกอ่อน ที่หุ้นอยู่รอบส่วนปลายของกระดูกทั้ง 2 ด้าน ที่ประกอบกันเป็นข้อ กระดูกอ่อนนี้มีหน้าที่รองรับแรงกระแทกที่กดดันลงมาในข้อ

ดังนั้น ข้อที่มักจะเกิดข้อเสื่อมจึงเป็นข้อที่ต้องรับน้ำหนักของร่างกายโดยตรง เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกอ่อนในข้อเหล่านี้จะแข็งแรงที่สุด สมบูรณ์ที่สุด เมื่อคนเราอายุประมาณ 30 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มเสื่อมลง แต่ยังไม่เป็นข้อเสื่อม เพราะร่างกายของเรามีกลไกที่คอยซ่อมแซมเอาไว้ ทำให้สามารถใช้งานข้อได้ตามปกติ โดยยังไม่มีอาการอะไร แต่เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ขบวนการซ่อมแซมนี้ก็เริ่มเสื่อมไปด้วย เริ่มซ่อมแซมความเสื่อมไม่ค่อยไหว ผู้สูงอายุก็จะเริ่มมีอาการของโรคข้อเสื่อมขึ้น แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อใดก็คงต้องขึ้นกับลักษณะการใช้งานข้อ และสภาพร่างกายของแต่ละคน ถ้ามีน้ำหนักตัวมาก น้ำหนักที่กดกระแทกลงมาที่ข้อก็จะมาก ข้อก็จะเกิดความเสื่อมเร็ว ถ้ามีการใช้งานข้อมากๆ เช่น มีการเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันไดมากๆ นั่งยองๆ มาก ข้อก็จะเสื่อมเร็ว

ถ้าร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง ไม่มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ ข้อให้แข็งแรง ก็มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมเร็ว ไม่มีใครทราบว่าอะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้กระดูกอ่อนในข้อเริ่มแตกร้าว หลุดร่อนและมีความหนาลดลงหรือบางลง แต่การทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อส่วนหนึ่งเกิดจากการอักเสบ ทำให้มีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ยิ่งมีการอักเสบซ้ำๆ จากการใช้งานข้อมากๆ ก็ยิ่งทำให้กระดูกอ่อนบางลง ถ้าถ่ายภาพรังสีของข้อจะพบว่าระยะระหว่างกระดูก 2 ข้างในข้อ ซึ่งหมายถึงความหนาของกระดูกอ่อนทั้ง 2 ด้านในข้อที่เสื่อมจะลดลง ยิ่งมีความเสื่อมมากขึ้น ความหนาของกระดูกอ่อนนี้ก็จะบางลงเรื่อยๆ จนไม่เหลือความหนาในที่สุด กระดูกทั้ง 2 ด้านจึงเริ่มกระทบกันบดเบียดกัน จนไม่สามารถใช้ข้อได้เหมือนแต่ก่อน ขบวนการนี้อาจจะใช้เวลาหลายปี แต่ถ้ามีการใช้งานข้อมาก ใช้งานผิดวิธี หรือน้ำหนักตัวมากขบวนการนี้อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
 



 
    
 


 
แหล่งข้อมูล : www.ramaclinic.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น