วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

โรคข้อเข่าเสื่อม

ทำความเข้าใจเรื่องข้อเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ และ ทุตยภูมิ

             โรคข้อเข่าเสื่อม ที่กล่าวถึงกันอยู่เป็นประจำในความหมายของคนทั่วไป หมายถึง ภาวะที่ข้อเกิดความผิดปกติเนื่องจากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงแบบถดถอย ซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับอายุที่มากขึ้น เรียกว่าข้อเข่าเสื่อมชนิดปฐมภูมิ ถ้าหากว่า โรคข้อเข่าเสื่อมมีสาเหตุที่ผิดปกติที่เกิดกับข้อเข่ามาก่อน เช่น การอักเสบของข้อเข่าจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อ ไขข้ออักเสบ กระดูกหัก เป็นต้น แล้วทำให้ในเวลาต่อมาผิวข้อผิดปกติ และเกิดข้อเสื่อมตามมา ข้อเสื่อมชนิดนี้เรียกว่าข้อเสื่อมทุติยภูมิ พบได้ประปรายในผู้ป่วยทุกอายุ แต่โดยรวมพบได้ไม่บ่อยเท่าข้อเสื่อมชนิดแรก
เมื่อข้อเสื่อมเกิดที่ข้อเข่า
             โรคข้อเสื่อมที่เกิดกับข้อเข่าเป็นโรคข้อเข่าที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 45 ปี แต่มักพบบ่อยเมื่ออายุมากกว่า 60 ปี เราจะเข้าใจการเกิดโรคนี้จากภาวะสูงอายุได้ง่ายขึ้น เมื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของการเหี่ยวย่นของผิวหนังกับข้อเข่าของผู้สูงอายุ โดยเมื่ออายุน้อย ผิวหนังมีความเต่งตึงเช่นเดียวกับผิวข้อที่มีผิวเรียบ มัน วาว แต่เมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังเหี่ยวย่นขึ้น เช่นเดียวกับการเสื่อมสภาพของผิวข้อ (รวมถึงเยื่อหุ้มข้อ เส้นเอ็นรอบข้อ และกระดูกที่ประกอบเป็นข้อ) เมื่อผู้ป่วยอายุมากขึ้นมักมีน้ำหนักตัวที่มากขึ้นด้วย และเริ่มมีโครงสร้างภายในข้อไม่เป็นปกติ จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงความผิดปกติภายในข้อ อันประกอบด้วย
ผิวของข้อเข่า ซึ่งเป็นกระดูกอ่อน เริ่มสึกหรอ ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ การเคลื่อนไหวข้อ มีอาการติดขัด ฝืด หรือเสียงดังคล้ายกระดาษทรายถูกัน
การกระจายการรับน้ำหนักของกระดูกผิวข้อ เริ่มผิดปกติ บางบริเวณมากขึ้น บางบริเวณน้อยลง ทำให้การรับน้ำหนักผิดปกติ มีอาการปวดเสียว
เยื่อหุ้มข้อ ถูกระคายเคือง เกิดการอักเสบ และสร้างน้ำในข้อมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวด บวม และข้ออุ่น
กล้ามเนื้อรอบข้อเข่า มีความแข็งแรงน้อยลง แรงกระแทกจึงเกิดกับผิวข้อมากขึ้น
เอ็นยึดข้อ บางส่วนหย่อนยานขึ้น ทำให้ข้อแกว่ง หรือหลวมมากขึ้น เพิ่มการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติมากขึ้น
แนวแกนขา เริ่มผิดปกติ จากน้ำหนักที่มากขึ้น ร่วมกับเอ็นยึดข้อที่หย่อนยานขึ้น ทำให้เข่าดูโก่ง หรือดูขาเก
กระดูกรอบข้อเกิดการปรับตัว โดยสร้างกระดูกงอกขึ้นภายในข้อ ทำให้ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง กระดูกบริเวณข้อเข่า และรอบ ๆ ข้อ บางลง เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มเดินน้อยลง

 
ภาพซ้าย ภาพวาดแสดงเข่าปกติภายในข้อเข่ามีผิวข้อเรียบมันวาว ภาพขวา ภาพวาดแสดงผิวกระดูกอ่อนและเยื่อหุ้มข้อปกติ

 
ภาพซ้าย ภาพวาดแสดงความผิดปกติภายในข้อเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อม ประกอบด้วยผิวข้อที่สึก ขรุขระ และมีกระดูกงอกรอบผิวข้อ เป็นเหตุให้ข้อเข่าบวม ปวด เคลื่อนไหวไม่ปกติ และเข่าผิดรูป ภาพขวา ภาพถ่ายจากข้อเข่าเสื่อมจากผู้ป่วยจริง

ภาพ แสดงความผิดปกติที่เห็นได้จากภายนอกในผู้ป่วยทีมีข้อเข่าเสื่อม ทำให้ข้อเข่าบวม และเหยียดไม่สุด (เข่าซ้าย) เปรียบเทียบกับภาพถ่ายทางรังสี ที่สังเกตเห็นว่าช่องว่างของข้อด้านในแคบลง เนื่องจากการสึกของผิวกระดูกอ่อน

อาการแสดงเมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม

             การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นดังกล่าวมาแล้ว เป็นเหตุเป็นผลกัน และเป็นปัจจัยที่ร่วมกันทำให้ขบวนการอักเสบเสื่อมภายในข้อเข่าเกิดขึ้น และเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จนทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ

 
ภาพซ้าย แสดงการอักเสบขึ้นภายในข้อเข่า ทำให้ข้อเข่าบวม รวมกับอาการปวดที่ข้อ ภาพขวา แสดงข้อเข่าที่ยุบบวมลงบ้าง จะเริ่มมองเห็นริ้วรอยย่นของผิวหนัง
             อาการผิดปกติของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะแรก ประกอบด้วย อาการปวดอาจร่วมกับการมีข้อเข่าบวม อาการขัดที่ข้อ โดยอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวมากขึ้นของข้อ ในขณะเหยียดและงอข้อเข่าจะมีอาการปวด และหรือขัดในข้อมากขึ้น และมีเสียงลั่นในข้อ ซึ่งอธิบายจากการที่ผิวกระดูกภายในข้อเริ่มไม่เรียบและมีกระดูกงอกเกิดขึ้น อาการปวดที่เกิดในผู้ป่วยบางรายทำให้เกิดการปรับตัวด้วยการไม่เหยียดหรืองอข้อเข่าจนสุด เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น ทำให้เกิดปัญหาข้อติดขัด และเคลื่อนไหวไม่เต็มวงของการงอเข่าตามมา เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น หรือ ข้อที่เสื่อมอักเสบนั้นถูกใช้งานมากอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้อาการผิดปกติเหล่านี้ เป็นมากขึ้นได้
             นอกจากอาการต่าง ๆ ที่กล่าวถึงแล้ว ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ เพื่อให้อาการเหล่านี้ทุเลาหรือหายไปได้เป็นครั้งคราว เช่นการปรับตัวในเรื่องการงอข้อเข่า โดยการหลีกเลี่ยงการนั่งยอง ๆ การนั่งพับเพียบ การนั่งขัดสมาส การนั่งคุกเข่า และการขึ้นหรือลงบันไดบ่อย ๆ หรือหลายชั้น รวมถึงการปรับกิจกรรมประจำวัน เช่น ลดระยะทางการเดิน ไม่นั่งหรือยืนอยู่ในท่าเดียวนาน ๆ และการใช้ไม้เท้าช่วยในการเดิน
ปัญหาข้อเข่าโก่งผิดรูป ก็เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีน้ำหนักมาก หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เมื่อข้อเข่าโก่งมักจะเกิดปัญหาเอ็นรอบข้อเข่าหย่อนตัวด้านนอก ทำให้ข้อเข่าเริ่มดูโก่งมากขึ้น เมื่อยังคงใช้งานอย่างต่อเนื่อง จะเกิดการขัดหรือสึกหรอผิดปกติของผิวข้อด้านใน ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เข่าดูโก่งมากขึ้น ในผู้ป่วยบางคนอาจมีข้อเข่าที่มีรูปร่างโก่งตั้งแต่อายุน้อย ๆ อยู่แล้ว เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่ข้อเข่าจะมีปัญหาได้มากกว่าผู้ที่ข้อเข่าดูรูปร่างปกติ

ภาพ แสดงความผิดปกติของแกนขาของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม และเข่าผิดรูปชนิดเข่าโก่งออก มีความรุนแรงตั้งแต่น้อย (ซ้าย) ถึงมาก (ขวา)
ภาพ แสดงความผิดปกติของแกนขาของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม และเข่าผิดรูปชนิดขาเก มีความรุนแรงตั้งแต่น้อย (ซ้าย) ถึงมาก (ขวา)
ภาพ แสดงความผิดปกติของแกนขาของผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม และเข่าผิดรูปชนิดเหยียดข้อเข่าไม่ตรงสุดตามปกติ

ข้อเข่าเสื่อมในผู้ป่วยสูงอายุ

            โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เมื่อมาพบแพทย์ก็มักจะมาเมื่ออาการต่าง ๆ เกิดขึ้นพอควรแล้ว หรือ ไม่สามารถประกอบภารกิจประจำวันได้เหมือนเดิม ซึ่ง อาการหลัก ๆ ก็คือ อาการปวด,ขัด และหรือบวม ของข้อเข่า หรือในรายที่มีข้อเข่าโก่งอยู่บ้างแล้วก็มักจะมาด้วยเรื่องเข่าผิดรูป หรือทำให้เกิดปัญหาปวดมากขณะเปลี่ยนท่า เช่นจากนั่งเป็นยืน
ในผู้ป่วยที่ชีวิตประจำวันต้องมีการนั่งในลักษณะงอข้อเข่ามาก เช่น นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งคุกเข่า หรือจำเป็นต้องขึ้นหรือลงบันไดจำนวนหลาย ๆ ชั้นอยู่เป็นประจำ ก็มักทำให้อาการอักเสบของข้อเข่ารุนแรงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตเหมือนที่เคยทำในขณะเป็นปกติได้ในเวลาอันสั้น จนอาจเป็นสาเหตุให้ต้องมาพบแพทย์เร็วขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาข้อเข่าเสื่อมจากสูงอายุนั้นมักจะพบในเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย เนื่องจากมีความแตกต่างบางอย่างระหว่างเพศ ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
  • เรื่องความแข็งแรงหรือความบางของกระดูก
  • เรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า
  • เรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น
  • เรื่องการหย่อนตัวของเอ็นยึดข้อเข่า

             เมื่อเกิดปัญหาข้อเข่าเสื่อมเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีอาการของโรคซึ่งจะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ถ้าหากว่าอาการที่เกิดขึ้นน้อย ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแต่เนิ่น ๆ ก็สามารถชะลอการเสื่อมของข้อเข่านั้น ๆ ได้วิธีการที่จะช่วยให้ผู้ป่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่านั้น ประกอบด้วยวิธีหลัก ๆ ดังนี้
• หลีกเลี่ยงท่างอข้อเข่ามาก ๆ (นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ และนั่งคุกเข่า) ดังที่กล่าวมาแล้ว
• หลีกเลี่ยงการขึ้นลงบันไดหลาย ๆ ชั้น
• ควบคุมน้ำหนักตัวให้ดี ไม่ให้อ้วน
• หมั่นขยันบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าอยู่เสมอ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อด้านหน้าของต้นขา
• ทานยาแก้อักเสบของข้อเมื่อจำเป็น หรือทานเป็นครั้งคราว
• ในรายที่ข้อโก่งผิดรูป และหรือมีการแกว่งของข้อได้มากกว่าปกติ ควรสวมปลอกสวมข้อเข่า ชนิดมีเหล็กสปริงที่ด้านข้างของข้อเข่าทั้งด้านในและด้านนอก
• ใช้ไม้เท้าช่วยเมื่อต้องเดินเป็นระยะทางไกล หรือเดินในที่ไม่เรียบ
สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยหรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยต้องทราบ ในการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวมาแล้วก็คือ ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคน้อยหรือปานกลางเท่านั้น ที่สามารถรักษาวิธีเหล่านี้ได้ผลเป็นที่พอใจของผู้ป่วย
ขอขอบคุณorthochula.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น