กลไกการเกิดข้อเข่าเสื่อม
เข่าของคนเราเป็นข้อที่ใหญ่และต้องทำงานมากทำให้เกิดโรคที่เข่าได้ง่ายโรคข้อเข่าเสื่อมหมายถึง การที่กระดูกอ่อนของข้อมีการเสื่อมสภาพทำให้กระดูกอ่อนไม่สามารถเป็นเบาะรองรับน้ำหนัก และมีการสูญเสียคุณสมบัติของ น้ำหล่อเลี้ยงเข่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของเข่าก็จะเกิดการเสียดสีและเกิดการสึกหรอของกระดูกอ่อน ผิวของกระดูกอ่อนจะแข็งผิวไม่เรียบ เมื่อเคลื่อนไหวข้อเข่าก็จะเกิดเสียงดังในข้อเกิดอาการเจ็บปวด หากข้อเข่าที่เสื่อมมีการอักเสบก็จะมีการสร้างน้ำข้อเข่าเพิ่มทำให้เกิดอาการบวม ตึงและปวดของข้อเข่า เมื่อมีการเสื่อมของข้อเข่ามากขึ้นข้อเข่าก็จะมีอาการโก่งงอทำให้เกิดอาการปวดเข่าทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหว และขนาดของข้อเข่าก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น ในที่สุดผู้ป่วยต้องใช้เท่าช่วยเดินหรือบางคนจะเดินน้อยลงทำให้กล้ามเนื้อต้นขาลีบลง ข้อจะติดเหมือนมีสนิมเกาะเหยียดขาได้ไม่สุด
เมื่อเกิดเข่าเสื่อมมากขึ้นกระดูกอ่อน( cartilage )จะมีขนาดบางลง ผิวจะขรุขระ จะมีการงอกของกระดูกขึ้นมาที่เรียกว่า osteophytesเมื่อมีการอักเสบเยื่อหุ้มข้อก็จะสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อเพิ่มขึ้นทำให้ข้อเข่ามีขนาดใหญ่ เอ็นรอบข้อจะมีขนาดใหญ่ขึ้น กล้ามเนื้อจะลีบลง การเปลี่ยนแปลงของข้อจะเป็นไปอย่างช้าๆโดยที่ผู้ป่วยไม่ทราบ ในรายที่เป็นรุนแรงกระดูกอ่อนจะบางมาก ปลายกระดูกจะมาชนกัน เวลาขยับข้อจะเกิดเสียงเสียดสีในข้อ
ผิวข้อเข่าคนปกติ | ผิวข้อเข่าของคนที่เป็นข้อเข่าเสื่อม |
อาการของโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบในผู้ป่วยสูงอายุ แต่ผู้ป่วยที่มีโรคข้อเรื้อรังเช่นโรครูมาตอยด์ โรคเกาต์ หรือผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่า ก็อาจจะเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมในขณะที่อายุยังไม่มาก โดยเฉพาะคุณผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นข้อเสื่อมได้มากกว่าผู้ชายเนื่องจากความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อน้อยกว่าผู้ชาย
อาการที่สำคัญได้แก่
- อาการปวดเข่า เป็นอาการที่สำคัญเริ่มแรกจะปวดเมื่อยตึงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของเข่าหรือบริเวณน่อง เมื่อเป็นมากขึ้นจะปวดบริเวณเข่าเมื่อมีการเคลื่อนไหว ลุกนั่งหรือเดินขึ้นบันไดไม่คล่องเหมือนเดิม
- มีเสียงในข้อ เมื่อเคลื่อนไหวผู้ป่วยจะรู้สึกมีเสียงในข้อและปวดเข่า
- อาการบวม ถ้าข้อมีการอักเสบก็จะเกิดข้อบวม
- ข้อเข่าโก่งงอ อาจจะโก่งด้านนอกหรือโก่งด้านใน ทำให้ขาสั้นลงเดินลำบากและมีอาการปวดเวลาเดิน
- ข้อเข่ายึดติด ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดหรืองอขาได้สุดเหมือนเดิมเนื่องจากมีการยึดติดภายในข้อ
- อายุ อายุมากมีโอกาสเป็นมากเนื่องจากอายุการใช้งานมาก
- เพศหญิงจะเป็นโรคเข่าเสื่อมมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า
- น้ำหนัก ยิ่งน้ำหนักตัวมากข้อเข่าจะเสื่อมเร็ว
- การใช้ข้อเข่า ผู้ที่นั่งยองๆ นั่งขัดขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบนานๆจะพบข้อเข่าเสื่อมเร็ว
- การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุที่ข้อเข่าไม่ว่าจะกระดูกข้อเข่าแตกหรือเอ็นฉีก จะเกิดข้อเข่าเสื่อได้
- ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้ที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและได้รับแคลเซียมในปริมาณที่พอเพียงจะชะลอการเสื่อมของเข่า
แพทย์จะวินิจฉัยข้อเข่าเสื่อมได้อย่างไร
หากท่านมีอาการปวดเข่าเรื้องรังเมื่อไปพบแพทย์หากสงสัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแพทย์ก็จะมีขั้น
- ซักประวัติและตรวจร่างกายโดยเน้นทีการตรวจข้อเข่าซึ่งอาจจะพบลักษณะที่สำคัญคือ ข้อบวม หรือขนาดข้อใหญ่และมีการงอของข้อเข่า
- การถ่ายภาพรังสี ก็จะพบว่าช่องว่างระหว่างกระดูกเข่าแคบลงซึ่งหมายถึงกระดูกอ่อนมีการสึกหรอ หากสึกมากก็ไม่พบช่องว่างดังกล่าว
- การเจาะเลือด การเจาะเลือดเพื่อวินิจฉัยแยกโรคที่อาจจะเป็นสาเหตุของโรคปวดเข่าเรื้อรังเช่น โรคเกาต์ หรือโรครูมาตอยด์
- การตรวจน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ในกรณีที่เข่าบวมแพทย์จะเยาะเอาน้ำหล่อเลี้ยงเข่าออกมาตรวจด้วยกล้องจุลทัศน์
- การตรวจความหนาแน่นของกระดูก เป็นการตรวจหาโรคกระดูกพรุน
การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคของผู้สูงอายุ หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้เหมือนเดิมดังนั้นการรักษาข้อเข่าเสื่อมจึงมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด ป้องกันข้อติด ป้องกันข้อโกงงอ เป็นต้น การรักษาแบ่งออกได้เป็น 3 วิธี
- การรักษาทั่วไป
- การรักษาโดยการใช้ยา
- การรักษาโดยการผ่าตัด
- ปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมเช่น การยกของหนัก การนั่งพับเพียบ นั่งยองๆ การนั่งสมาธิเป็นเวลานานๆ การใช้ส้วมชนิดนั่งยองๆ การนอนกับพื้นเป็นประจำเพราะขณะลุกขึ้นหรือลงนอนจะเกิดอันตรายกับเข่า หลีกเลี่ยงการขึ้นบันไดบ่อยๆ ควรจะนั่งบนเก้าอี้ไม่ควรนั่งบนพื้น
- การลดน้ำหนักซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่จะลดอาการปวดและช่วยชะลอข้อเข่าเสื่อมได้
- การออกกำลังกายและการบริหารกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะการบริหารกล้ามเนื้อต้นขาจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงจะช่วยลดแรงที่กระทำต่อเข่า วิธีการบริหารสามารถทำได้โดยการยืน มือเกาะกับเก้าอี้ ย่อตัวให้เข่างอเล็กน้อย นับ 3-6 แล้วยืนตรงทำช้ำ 3-6 ครั้ง หรืออาจจะทำได้โดยนั่งบนเก้าอี้เหยียดขาเกร็งไว้ 10 วินาที่แล้วจึงงอเข่า ทำซ้ำหลายครั้ง นอกจากนั้นการเดินเร็วหรือการไหว้น้ำจะช่วยกระตุ้นให้กระดูกแข็งแรง
- เวลาเดินหรือวิ่งให้ใส่รองเท้าสำหรับเดินหรือวิ่งซึ่งจะมีพื้นกันกระแทก
- ให้ใช้เข่าเหมือนปกติ หากมีอาการปวดให้พักเข่า
- ใช้ไม้เท้าค้ำเวลาจะลูกขึ้น อย่าหยุดใช้งาน
- เวลาขึ้นบันไดให้ก้าวข้างดีขึ้นก่อน เวลาลงให้ก้าวข้างปวดลงก่อน มือจับราวบันได
- ประคบอุ่นเวลาปวดเข่า
- การทำกายภาพบำบัด แพทย์จะแนะนำวิธีการบริหารกล้ามเนื้อและข้อเข่าเพื่อลดอาการปวด ป้องกันข้อติด ป้องกันข้อผิดรูปรวมทั้งทำให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรง ที่สำคัญต้องปฏิบัติเป็นประจำจึงจะได้ผลดี
การบริหารกล้ามเนื้อ
การพักกล้ามเนื้อเป็นวิธีที่ดีสำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อม แต่ต้องมีการออกกำลังหรือบริหารข้อเข่าอย่างเหมาะสม การออกกำลังจะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ป้องกันข้อติด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น การบริหารมีให้เลือกหลายท่า การบริหารที่สามารถทำได้บ่อยๆวิธีง่ายๆสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
- นั่งบนเก้าอี้ให้นั่งห้อยเท้าไว้ ผูกน้ำหนักที่ข้อเท้าประมาณ 2-5 กิโลกรัมไว้ที่ขาทั้งสองข้าง ให้ทำวันละ 1-3 ครั้งครั้งละ 5-15 นาที
- นั่งบนเก้าอี้ พักเท้าข้างหนึ่งไว้บนพื้น เท้าอีกข้างหนึ่งวางบนเก้าอี้ ให้กดเท้าทีวางอยู่บนเก้าอี้ลงหาพื้นนาน 5-10 วินาที่แล้วพัก 1 นาที ทำซ้ำข้างละ10 ครั้ง ให้ทำวันละ 3 เวลา
- ให้นั่งบนเก้าอี้ หลังพิงพนัก ยกเท้าขึ้นมาและเกร็งกล้ามเนื้อต้นขาโดยการกระดกข้อเท้าให้นับถึง5- 10วินาที ทำข้างละ 10 ครั้ง ทำวันละ 3 เวลา ถ้าหากแข็งแรงขึ้นอาจจะถ่วงน้ำหนักที่ปลายเท้า
- ให้นอนหงาย ยกเท้าข้างหนึ่งงอตั้งไว้ อีกข้างหนึ่งยกสูงขึ้นจากพื้นเกร็ง 1 ฟุต นับ 1-10 สลับข้างทำ ให้ทำซ้ำหลายๆครั้ง หรืออาจะเคลื่อนเท้าเป็นรูปตัวที ให้ทำวันละ 3 เวลา
- นอนหงาย หรือนั่งหาหมอนรองบริเวณข้อเท้าข้างหนึ่ง กดเข่าของเท้าที่มีหมอนหนุนให้ติดพื้นให้นับ นาน 5-10 วินาทีพัก1 นาทีทำข้างละ 10 ครั้ง วันละ 3 เวลา ทำสลับข้างทำบ่อยๆ
- นั่งบนเก้าอี้ นำผ้าวางไว้ใต้เท้าข้างหนึ่ง แล้วดึงขึ้นมาให้สูงจากพื้น 4-5 นิ้วดึงไว้ 5-10 วินาที พักหนึ่งนาที่ ทำซ้ำข้างละ 10 ครั้ง ทำวันละ 3 ครั้ง
- ให้ยืนหลังพิงกำแพง ให้เคลื่อนตัวลงจนเข่างอ 30 องศา แล้วให้ยืนขึ้นทำ 5-10ครั้ง วันละ 3 เวลา
การรักษาโดยการใช้ยา
หากการรักษาทั่วไปไม่สามารถลดอาการปวดจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา ซึ่งมียาหลายชนิดให้เลือกดังนี้
- ยาแก้ปวด เป็นยาลดอาการปวดแต่ไม่ได้แก้อาการอักเสบ พอหมดฤทธิ์ยาก็ปวดอีก เช่นยา paracetamol
- ยาแก้อักเสบ steroid เมื่อสมัยก่อนนิยมใช้กันมากทั้งชนิดรับประทานและชนิดฉีดเข้าข้อ แต่ปัจจุบันความนิยมลดลงเนื่องจากผลข้างเคียง โดยเฉพาะยาที่ฉีดเข้าข้อจะทำให้ข้อเข่าเสื่อมเร็วขึ้น
- ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่ steroid ยากลุ่มนี้นิยมใช้กันมากขึ้น แต่ต้องระวังการเกิดโรคแทรกซ้อน
- ยาบำรุงกระดุกอ่อน ได้ผลช้าและใช้ค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่เป็นที่นิยม
- การใช้น้ำหล่อเลี้ยงข้อชนิดเทียม เนื่องจากโรคข้อเสื่อมจะมีน้ำหล่อเลี้ยงข้อน้อยทำให้มีการเสียดสีของข้อ จึงได้มีการฉีดน้ำหล่อเลี้ยงข้อเทียมเข้าไปในเข่า 3-5 ครั้งแต่ละครั้งห่างกัน 1 สัปดาห์ซึ่งจะทำให้ลดการเสียดสีของข้อ ลดอาการปวด แต่การฉีดนี้ใช้ได้เฉพาะข้อที่เสื่อมไม่มาก
การผ่าตัด
ปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นเนื่องจากได้ผลดีและโรคแทรกซ้อนไม่มาก วิธีการผ่าตัดมีได้หลายวิธี
- การผ่าตัดโดยการส่องกล้อง (arthroscope) เหมาะสำหรับข้อที่เสื่อมไม่มาก แพทย์จะเข้าไปเอาสิ่งสกปรกที่เกิดจากการสึกออกมา
- การผ่าตัดแก้ความโกงงอของเข่า วิธีนี้ต้องตัดกระดูกบางส่วนออกทำให้ใช้เวลานานกว่าจะใช้งานได้ ปัจจุบันนิยมลดลง
- การผ่าตัดใส่ข้อเข่าเทียม คือการใส่ข้อเข่าเทียมเข้าแทนข้อที่เสื่อม ซึ่งผลการผ่าตัดทำให้หายปวด ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้ดีขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น